วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รู้จักกับนิยายไซไฟ สถาบันสถาปนา(Foundation)


หนังสือชุด สถาบันสถาปนา

นิยายไซ-ไฟ สถาบันสถาปนา


             เมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว ผมประสบกับวิกฤติการขาดแคลนนิยาย ต้องบอกไว้ก่อนว่าผมเป็นคนชอบอ่านมาก(ถึงมากที่สุด)เรียกได้ว่าว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหาหนังสือมาอ่าน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ให้ความรู้หรือหนังสือนิยายก็ตาม แต่เมื่อกลางปีที่แล้วหลังจากอ่านหนังสือชุด The Hero of Olympus จบไปสามเล่มผมก็พบว่าไม่มีหนังสือจะอ่านอีกต่อไปดังนั้นผมจำต้องหันไปพึ่งอากู๋ ในใจกะว่าจะลองหานิยายแนวใหม่มาลองชิม 

         นิยายชุด The Hero of Olympus

             ถามอากู๋ไปเรื่อยๆก็ไปเจอบทความ  10 สุดยอดไซ-ไฟอวกาศ แนะนำโดย ชัยคุปต์ ผมรีบกดเข้าไปอ่านทันที เพราะจำได้ลางๆว่าตอนเด็กเคยอ่านนิตยสารต่วยตูนฉบับเก่ามาก และ ชัยคุปต์ ก็เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ผมชอบ ทั้งสิบอันดับในบทความเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยอ่านทั้งสิ้น เนื่องด้วยมันตีพิมพ์มานานแล้ว(บางเล่มก่อนพ่อผมเกินซะอีก) แต่แล้วผมก็ไปสะดุดกับอันดับที่สอง...

            อันดับที่สองที่ว่าก็คือหนังสือ  “สถาบันสถาปนา” (Foundation) ของไอแซก อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2503 ที่สะดุดตากับเล่มนี้ก็เพราะผมจำคนเขียนท่านได้ จากท้ายเครดิตของหนังเรื่อง I Robot (วิลล์ สมิท นำแสดง) ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมชอบมาก (โดยเฉพาะกฎสามข้อของหุ่นยนต์) หนังสร้างมาจากนิยายของนักเขียนท่านนี้ หลังจากนั้นอีกหลายวันต่อมาผมก็ได้มันมาครอบครอง(ใช้เวลาหานานมากๆๆๆๆๆ เพราะเรื่องนี้พิมพ์มานานโคตร)


I,Robot



เปิดเข้ามาหน้าแรกก็เจอกับเรื่องย่อที่ทำให้รู้สึกอยากอ่านขึ้นมาทันที เรื่องย่อที่ว่าก็มีประมาณนี้ครับ
            “จักรวาลที่ประกอบด้วยดาวเคราะห์นับล้านดวงรวมเป็นอาณาจักรเดียว  จักรวรรดิสากลจักรวาล มีอาณาเขตจากปลายหนึ่งจดอีกปลายหนึ่งของกาแลกซีทางช้างเผือก มีพลเมืองกว่าล้านกำลังสี่  มีพระมหาจักรพรรดิเป็นประมุข 

            แต่ก็เฉกเช่นอาณาจักรต่าง ๆ ในอดีตที่มีรุ่งก็มีดับ  จักรวรรดิสากลจักรวาลนี้กำลังเริ่มเสื่อมโทรมลง  แต่ด้วยเหตุที่ว่าใหญ่ยิ่งกว่าใหญ่ อาการเสื่อมโทรมจึงค่อยเป็นค่อยไป  กินเวลานานยิ่งกว่านาน  ช่วงว่างระหว่างความรุ่งเรืองแรกกับความรุ่งเรืองที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็ต้องนานแสนนานด้วย  โดยจะกินเวลาถึง 30,000 ปี 

            โชคดีที่ ฮาริ เซลด็อน นักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้บุกเบิกวิชาการด้านอนาคตประวัติศาสตร์ (psychohistory) ได้สังเกตเห็นอาการเสื่อมโทรมดังว่านี้  จึงคิดแก้ไข “ย่น” ช่วงว่างนั้นให้สั้นลงเหลือเป็นอนารยะยุคเพียง 1,000 ปี  โดยการก่อตั้งสถาบันสถาปนาขึ้น”

            เป็นไงหละครับ เริ่มน่าสนใจแล้วใช่มะ....

สถาบันสถาปนา เล่มที่ 1

เรามาว่ากันถึงหนังสือทั้งหมดในชุดสถาบันสถาปนาเท่าที่ผมอ่านกันบ้างดีกว่า
1.สถาบันสถาปนา (Foundation)
2.สถาบันสถาปนาและจักรวรรดิ (Foundation and Empire)
3.สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง (Second Foundation)
4.สถาบันสถาปนาและปฐมภพ (Foundation's Edge)
5.สถาบันสถาปนาและโลก (Foundation and Earth)
            นี่คือทั้งหมดเท่าที่ผมหาได้ในตอนนี้ครับ เล่ม
1 2 และ 3 หรือที่เรียกกันว่า ไตรภาคแรกนั้น ตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี ค.ศ. 1951 โน่น หลังจากนั้นอาซิมอฟก็พักการเขียนหนังสือชุดนี้ไปนาน จนในที่สุดก็กลับมาเขียนเล่มที่เหลือในช่วงกลางทศวรรศที่ 1980

สถาบันสถาปนา ฉบับแปลไทยทั้ง 5 เล่มโดยสำนักพิมพ์ โปรวิชั่น

            ความเจ๋งของหนังสือชุดนี้ในความคิดผมก็คือจินตนาการอันสุดแสนจะล้ำเลิศของนักเขียน เรียกได้ว่าต่อให้เอามาเทียบกับนิยายในยุคปัจจุบันก็ยังมีหลายเรื่องที่ก้าวล้ำไปไกลกว่า เราต้องไม่ลืมว่าคุณลุงอาซิมอฟเริ่มเขียนเรื่องนี้ในยุค 1950 ในช่วงที่สงครามเย็นยังครุกรุ่นและอำนาจนิวเคลียร์ยังเป็นของใหม่ที่มีไม่กี่คนที่รู้จัก และด้วยพล็อตเรื่องที่เกี่ยวกับการย่นย่อระยะเวลาแห่งความเสื่อมมันจึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาอ่านในยุคนี้ เนื่องด้วยมันอาจจะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ 

            ตอนต่อไปผมจะมาเจาะลึกสามองค์กรหลักที่มีบทบาทในการชี้นำประวัติศาสตร์ในหนังสือชุดนี้ ซึ่งได้แก่ สถาบันสถาปนา(Foundation) สถาบันสถาปนาที่สอง( Second Foundation) และ ปฐมภพ(Gaia)


Read More...