วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

The Imitation Game :: เมื่อความปรารถนาอันแสนธรรมดาชี้ชะตาชีวิตคนได้นับล้าน...




มนุษย์ทุกคนล้วนมีความปรารถนา เจ้าความปรารถนานี้เองที่เป็นสิ่งผลักดันให้เราทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง ยิ่งพลังแห่งความปรารถนาในใจของเราแรงกล้ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราพยายามไขว่คว้ามันมากขึ้นเท่านั้น คำถามที่ตามมาก็คือจะเกิดอะไรต่อไปหลังจากเราสมปรารถนาแล้ว?


อลัน ทัวริ่ง ก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง และแน่นอนว่าเขาย่อมต้องมีความปรารถนา ความปรารถนาของทัวริงคือ เขาอยากจะเจอคนที่เค้ารักอีกครั้ง ทัวริงทำทุกวิถีทางเพื่อให้สมปรารถนา หลังจากหลายปีผ่านไปในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ แต่ ณ วินาทีที่เขาทำสำเร็จนั้นเอง เขาก็ตระหนักได้ว่าเขาได้กุมอำนาจอันมาหาศาลไว้ในมือ อำนาจที่มากเกินกว่าที่จะอยู่ในมือคนคนเดียว มันเป็นผลกระทบที่แม้แต่คนฉลาดเข้าขั้นอัจฉริยะอย่างเขาก็ไม่คาดคิด....




อลัน ทัวริง เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี คศ. 1912 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ช่วงสงครามโลกเขาได้ทำงานเกี่ยวกับการถอดรหัสเครื่องอินิคม่าของเยอรมัน เจ้าเครื่องอินิคม่านี้เป็นเครื่องเข้ารหัสที่เยอรมันใช้เข้ารหัสข้อความทุกข้อความก่อนจะส่งออกไปทางคลื่นวิทยุ วิธีการนี้ทำให้แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถดักฟังข้อความได้แต่ก็ไม่สามารถแปลออก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเยอรมันว่ากำลังส่วนไหนไว้ที่ไหนบ้าง และจะโจมตีเมื่อใด ช่วงต้นสงครามฝ่ายที่ได้เปรียบจึงเป็นเยอรมัน ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้ดีว่าตนเองเสียเปรียบ 
จึงทุ่มเทความพยายามเพื่อที่จะถอดรหัสเครื่องอินิกม่า


ตอนนี้เองที่ทัวริงได้เข้ามามีบทบาท เขาได้อาสาที่จะถอดรหัสเครื่องเจ้าปัญหานี้ แม้ว่าผ่ายสัมพันธมิตรสามารถยึดเครื่องอินิคม่ามาได้หนึ่งเครื่อง แต่การจะถอดรหัสก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกๆวันเวลาเที่ยงคืน เยอรมันจะทำการเปลียนการตั้งค่าของเจ้าเครื่องอินิคมานี้ใหม่ นั่นหมายความว่าต่อให้เป็นข้อความเดียวกัน แต่ส่งคนละวันอักขระที่ได้จากการเข้ารหัสก็จะไม่เหมือนเดิม ดังนั้นต่อให้สามารถถอดรหัสได้ แต่วิธีการนั้นก็ใช้ได้อย่างมากแค่หนึ่งวันแล้วก็ต้องมาถอดรหัสกันใหม่อีกรอบ และอย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ทุกๆเที่ยงคืนเยอรมันจะทำการตั้งค่าเครื่องใหม่ ทัวริงคำนวนคร่าวๆว่า มีรูปแบบการตั้งค่าเครื่องอินิคม่าที่เป็นไปได้ถึง 150 ล้านล้านรูปแบบ  ซึ่งถ้าใช้วิธีค่อยๆถอดรหัสทีละแบบไปเรื่อยๆจะใช้เวลาหลายร้อยปีว่าที่จะถอดได้หมดทุกแบบ


จากความยากของปัญหาทั้งหมดบวกกับความปรารถนาที่จะเจอคนที่รักอีกครั้งของทัวริ่ง ทำให้เขาตัดสินใจสร้างเครื่องจักรที่ใช้ถอดรหัสเครื่องอินิคม่าแทนที่จะใช้คนถอดรหัส เข้าทำนองที่ว่าใช้เครื่องจักรสู้กับเครื่องจักร ทัวริงตั้งชื่อเครื่องจักรของเขาว่า คริสโตเฟอร์ ตามชื่อของคนที่เขารักที่ด่วนจากเขาไปตั้งแต่ยังเด็ก




ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าในใจ ทัวริงทุ่มเททุกอย่างเพื่อสร้างเครื่องนี้ เขาเชื่อว่าคริสโตเฟอร์จะต้องทำงานได้ และแม้ว่าระหว่างสร้างจะเจอกับอุปสรรคมากมายในทีสุดเขาก็ทำสำเร็จ เขาสามารถถอดรหัสข้อความแรกของเยอรมันได้ และรู้ว่าเยอรมันจะทำการโจมตีกองเรือของอังกฤษในอีกไม่กี่นาทีนี้ เมื่อนั้นเองเขาก็ตระหนักได้ว่าเขามีอำนาจมากเพียงไร ตอนนี้เขาสามารถกำหนดความเป็นความตายให้กับลูกเรือในกองเรืออังกฤษจำนวนหลายพันชีวิต เขาสามารถแจ้งเตือนไปยังกองเรือเพื่อให้ล่าถอยออกมาได้แต่เขากลับไม่แจ้งเตือน  ผลคือลูกเรือหลายพันชีวิตต้องตาย
แล้วทำไมเขาถึงไม่แจ้งเตือนกองเรือเหล่านั้น?





หลายๆคนอาจจะคิดว่าทัวริงเลือดเย็นที่ไม่ยอมเตือนกองเรือ แต่ลองคิดดูครับ ลองคิดดูไกลๆกว่านั้น ลองคิดดูว่าถ้าแจ้งเตือนไปแล้วกองเรืออังกฤษสามารถหนีมาได้อย่างปลอดภัยมันจะเกิดอะไรตามมา คำตอบก็คือเยอรมันจะรู้ว่าตัวเองโดนถอดรหัสได้ และเมื่อเป็นแบบนั้นเยอรมันก็จะหันไปใช้เครื่องเข้ารหัสชนิดอื่นแทน และทำให้งานที่ทัวริงและทีมทำมากว่า 2 ปี กลายเป็นสูญเปล่า และจะเสียเวลาอีกหลายปีเพื่อที่จะแกะได้ใหม่อีกครั้ง
แล้วแบบนี้จะต้องทำอย่างไรหละ ในเมื่อทำแล้วอีกฝ่ายก็จะรู้?


ทัวริงแก้ปัญหานี้ด้วยหลักที่ว่าพยายามเคลื่อนไหวให้น้อยทีสุดเพื่อไม่ให้ฝ่ายเยอรมันระแคะระคาย และการเคลื่อนไหวแต่และครั้งก็ต้องเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อช่วยชีวิตผู้คนให้ได้มากที่สุด ทุกครั้งที่จะเกิดการปะทะจะต้องมีการคำนวนทางสถิติเพื่อหาวิธีที่จะมีความเสียหายน้อยที่สุด พูดง่ายๆก็คือเขาคือคนที่จะตัดสินว่าใครจะอยู่ใครจะไปในการรบแต่ละครั้ง นี้แหละครับคืออำนาจที่ผมพูดถึง และมันเป็นอำนานที่ออกจะมากเกินไปที่จะถืออยู่ในมือของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง




มีอีกหนึ่งคำถามที่ผมเฝ้าถามตัวเองอยู๋นานหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบนั่นก็คือ มันถูกแล้วหรือที่จะตัดสินความเป็นความตายคนโดยใช้หลักสถิติ? และถ้าไม่เราจะใช้หลักอะไรมาตัดสินในสถานะการเช่นนี้? เป็นคำถามที่อยากจะให้ท่านผู้อ่านลองคิดดูครับ...


สุดท้ายนนี้ ผมจะขอไม่กล่าวถึงจุดจบของอลัน ทัวริงเพราะผมคิดว่ามันเป็นจุดจบที่ไม่ยุติธรรมและน่าเศร้าเกินกว่าที่วีระบุรุษสงครามอย่างเขาต้องมาพบเจอกับชะตากรรมอันโหดร้ายเช่นนี้


แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น